นายกรัฐมนตรีวาระแรก (พ.ศ. 2544-48) ของ การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของทักษิณ_ชินวัตร

เมื่อทักษิณเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ขณะนั้นเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในภาวะหดตัว ทักษิณตระหนักว่ากลุ่มผู้เดือดร้อนจากวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งนั้นล้วนเป็นกลุ่มผู้มีอันจะกิน ในขณะที่ชนชั้นเกษตรกรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เขาจึงเริ่มดำเนินนโยบายพื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศจากฐานล่างขึ้นบนว่า "จากรากหญ้าสู่รากแก้ว" นโยบายแรกที่ทักษิณได้ทำคือ "หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์" ต่อมามีการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน หมู่บ้านละหนึ่งล้านบาทเพื่อปล่อยกู้ให้แก่คนในชุมชนในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำไปสร้างอาชีพ มีการพักชำระหนี้เกษตรกรสามปี

นโยบายด้านสุขภาพ

จากการสำรวจพบว่าประเทศไทยขณะนั้นมีคนจนถึง 10 ล้านคนที่ไม่สามารถซื้อประกันสุขภาพ[5] ทักษิณได้รับเอาแนวคิดของนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ที่จะจัดตั้งระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสามารถผลักดันแผนดังกล่าวเกิดเป็นโครงการ "30 บาท รักษาทุกโรค" ในช่วงแรกที่ประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าว แทบไม่ปรากฏการคัดค้านในสื่อใดเลย[5] โครงการนี้ช่วยเพิ่มการเข้าถึงสาธารณสุขเพิ่มขึ้นจาก 76% ของประชากรเป็น 96% ของประชากร[6] โครงการนี้เพิ่มภาระงานแก่ลูกจ้างสาธารณสุขจนทำให้แพทย์จำนวนมากลาออก การบริการเป็นไปได้อย่างล่าช้าและด้อยประสิทธิภาพลง จึงถูกโจมตีจากพรรคประชาธิปัตย์ว่าเป็นโครงการ "30 บาท ตายทุกโรค"[7] แม้จะถูกโจมตีเรื่องคุณภาพในการรักษาแต่โครงการนี้ก็ยังเป็นที่นิยมในหมู่คนชนบทซึ่งไม่มีทางเลือกมากนัก

โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้รายได้ของอุตสาหกรรมโรงพยาบาลลดลงไปมาก โรงพยาบาลหลายแห่งต้องหาแหล่งรายได้อื่น ส่งผลให้เกิดการเติบโตอย่างมากในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทางการแพทย์ (medical tourism) โดยมีผู้ป่วยต่างชาติ 1.3 ล้านคน สร้างรายได้ให้ประเทศ 33,000 ล้านบาทในปี 2548[8][9]

รัฐบาลทักษิณยังเปิดให้มีการเข้าถึงยาต้านรีโทรไวรัสเอชไอวีราคาถูกถ้วนหน้า ทำให้จำนวนผู้ที่ป่วยเอชไอวีตลอดจนอัตราความชุกของโรคโดยรวมลดลงอย่างมีนัยยะ เพราะมีผู้ติดเชื้อลดลง[10] นอกจากนี้ ทักษิณอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวประมาณ 2.3 ล้านคนขึ้นทะเบียนและรับบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบสาธารณสุขของไทย พวกเขายังมีสิทธิได้ใบอนุญาตทำงานเมื่อสิ้นสุดระยะขึ้นทะเบียน ทำให้พวกเขาได้รับการคุ้มครองแรงงานอย่างสมบูรณ์

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

การนำส่งเงินเข้าคลังของรัฐวิสาหกิจ
(หน่วย: ล้านบาท)
พ.ศ.2543254425452546
ปตท.3,8977,155†11,0205,522
ทศท.2,1743,0238,336†14,498
หมาย † คือปีที่แปรรูป

ในเดือนมีนาคม 2544 ทักษิณได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อระดมความคิดเห็นในการกำหนดแนวทางการพัฒนาตลาดทุน[11] และได้มีการกำหนดแผนเตรียมความพร้อมในการนำรัฐวิสาหกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หนึ่งในนั้นคือการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งทำให้ทักษิณถูกโจมตีจากฝ่ายต่อต้านอย่างมากด้วยข้อกล่าวหา "นำสมบัติชาติไปขายให้ต่างชาติ" และ "ปล้นชาติ" [12] การนำปตท. เข้าตลาดหุ้นครั้งนั้นทำให้เงินทุนเริ่มกลับเข้ามาในระบบการเงินของไทย ช่วยปลุกตลาดหุ้นไทยขึ้นมาใหม่หลังอยู่ในภาวะซบเซาอย่างหนักเป็นเวลากว่าสี่ปี[13] หลังแปรรูปแล้วแม้รัฐบาลจะถือหุ้นในสัดส่วนลดลง แต่ปตท.กลับส่งเงินเข้าคลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง[14] นอกจากนี้ ทักษิณยังได้แปรรูปรัฐวิสาหกิจอื่นๆอีก คือ

ในปี 2544 ทักษิณได้สั่งการแก้ปัญหาภาวะขาดทุนของบางจากปิโตรเลียม โดยแปรรูปบริษัทบางจากให้พ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจและไปเป็นบริษัทลูกของปตท.แทน[11] ทักษิณยังมีความพยายามแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่ถูกระงับแผนไว้จากคำสั่งศาลปกครอง[15]

ก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

แม้กระบวนการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในหลายรัฐบาล แต่การแปรรูปทอท.และนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในสมัยทักษิณเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ภาระหนี้ของทอท.ลดลง และได้เงินจำนวน 18,462 ล้านบาทจากการระดมทุนในตลาดฯมาเป็นทุนก่อสร้าง[16] นอกจากนี้ เพื่อให้การก่อสร้างดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว รัฐบาลยังได้กู้เงิน 35,453 ล้านเยนจากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่นมาเสริม[17] รัฐบาลทักษิณยังได้ตระหนักถึงการเปิดน่านฟ้าเสรีในอนาคต จึงได้ปรับแบบให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคนต่อปี จากแผนเดิมรองรับที่ 30 ล้านคนต่อปี[17] นอกจากนี้ ทักษิณยังมีแนวคิดพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นเขตศูนย์กลางการบินและพาณิชยกรรมที่มีชื่อว่า "สุวรรณภูมิมหานคร"[18]

...การจะแย่งกันเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก
จังหวะเป็นเรื่องสำคัญ เราไม่สามารถจะรอได้ ถ้าเรารอเราอาจจะเสียโอกาสมาก...[17]— นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร 29 กันยายน 2548

มีข้อกล่าวหาการทุจริตในโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นจำนวนมากระหว่างการก่อสร้าง ข้อกล่าวหาเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำเกิดการชุมนุมขับไล่ทักษิณในปี 2549 และเป็นหนึ่งในเหตุผลที่คณะรัฐประหารทำการยึดอำนาจเมื่อ 19 กันยายน 2549 ข้อกล่าวหาต่างๆเป็นอันตกไปเมื่อป.ป.ช. มีมติยกคำร้องเมื่อ 28 สิงหาคม 2555 เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ[19]

เหตุจลาจลในพนมเปญ

ดูบทความหลักที่: เหตุจลาจลในพนมเปญ พ.ศ. 2546

วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2546 ผู้ชุมนุมชาวกัมพูชาได้บุกเข้าทำลายสถานเอกอัครราชทูตไทยตลอดจนทรัพย์สินต่างๆของธุรกิจสัญชาติไทยในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา กลุ่มผู้ประท้วงออกตระเวณไล่ล่าหาคนไทยในกรุงพนมเปญท่ามกลางเปลวเพลิงที่กำลังเผาสถานเอกอัครราชทูตไทย ในเวลาหนึ่งทุ่ม ทักษิณได้เรียกรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงกลาโหมเข้าหารือที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในเวลานั้น ทักษิณไม่สามารถติดต่อกับนายกรัฐมนตรีฮุน เซนได้ แต่นายอดิศัย โพธารามิกซึ่งกำลังอยู่กับรัฐมนตรีชาวกัมพูชาโทรเข้ามา ทักษิณจึงขอสายรัฐมนตรีชาวกัมพูชาคนนั้นและแจ้งว่า "หาก 1 ชั่วโมงข้างหน้ายังไม่สามารถคุมสถานการณ์ได้ ผมจะส่งคอมมานโดเข้าไปปกป้องคนไทย" แต่ทางรัฐมนตรีชาวกัมพูชาร้องขอไม่ให้ส่งคอมมานโดเข้ามา[20]

ในเวลาสี่ทุ่มเศษ สถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ทักษิณได้เรียกหน่วยงานความมั่นคงและผู้บัญชาการทหารทุกเหล่าทัพเข้าประชุมฉุกเฉินที่ทำเนียบรัฐบาล ทักษิณได้แต่งตั้งให้พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้บัญชาการเพื่อคลี่คลายสถานการณ์นี้ ทักษิณได้สั่งการให้กองทัพอากาศส่งเครื่องบินแบบ C-130 พร้อมหน่วยคอมมานโดไปยังกรุงพนมเปญโดยไม่สนว่ารัฐบาลกัมพูชาจะยินดีหรือไม่[20]

ความสัมพันธ์ว่ากันทีหลัง ผมถือว่าเรื่องศักดิ์ศรีและชีวิตรับไม่ได้![20]— นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร 29 มกราคม 2546

ที่ประชุมได้อนุมัติแผนช่วยเหลือพลเรือนไทยที่ชื่อว่า "โปเชนตง 1" นอกจากนี้นี้ ทักษิณยังใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีอนุมัติแผนสำรองที่ชื่อ "โปเชนตง 2" ที่อาจจำเป็นต้องใช้กำลังทหารไทยเข้าควบคุมกรุงพนมเปญ[20] อย่างไรก็ตามปฏิบัติการโปเชนตง 1 เป็นไปด้วยความสำเร็จด้วยความช่วยเหลือของรัฐบาลกัมพูชา ในวันที่ 30 มกราคม เครื่องบิน C-130 ทั้ง 7 ลำได้พาพลเรือนไทยมาถึงท่าอากาศยานดอนเมืองโดยสวัสดิภาพโดยมีทักษิณมารอต้อนรับ ส่งผลให้ภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำของทักษิณพุ่งขึ้นทันที

การปลดหนี้ไอเอ็มเอฟ

ทักษิณประกาศปลดหนี้ไอเอ็มเอฟ 31 กรกฎาคม 2546

สืบเนื่องจากวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อมาประคองเศรษฐกิจของประเทศ ประเทศไทยไม่สามารถดำเนินนโยบายเศรษฐกิจได้อย่างเสรี จำยอมต้องดำเนินนโยบายการเงินและคลังตามเงื่อนไขที่เข้มงวดของไอเอ็มเอฟ แม้ทักษิณจะได้รับคำทัดทานว่าอาจจะทำให้ประเทศขาดสภาพคล่องแต่ทักษิณก็เร่งรัดให้มีการใช้หนี้ไอเอ็มเอฟก่อนกำหนด ด้วยเหตุผลที่ว่า "...ผมมีประสบการณ์เป็นนักกู้เงินมาก่อน ถ้าเราเป็นหนี้แล้วใช้คืนได้เขาถึงว่าเราเป็นลูกค้าชั้นดีที่จะให้กู้มากขึ้นอีก" ในเวลา 20.30น. ของวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 ทักษิณได้กล่าวสุนทรพจน์ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยความว่า:

วันนี้เป็นวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ชำระหนี้ไอเอ็มเอฟก้อนสุดท้าย เมื่อกลางวันนี้ได้ชำระคืนให้กับธนาคารของประเทศญี่ปุ่น และเย็นนี้ซึ่งเป็นเวลากลางวันของซีกประเทศตะวันตกก็ได้ชำระเงินก้อนสุดท้ายคืนให้กับไอเอ็มเอฟ ทั้งหมดที่ชำระคืนในวันนี้ก็ประมาณ 60,000 กว่าล้านบาท เป็นก้อนสุดท้ายแล้ว หลังจากที่ได้เจอวิกฤตเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 [...] ซึ่งขณะนั้นทางไอเอ็มเอฟร่วมกับธนาคารกลางและกระทรวงการคลังของ 8 ประเทศ และประเทศญี่ปุ่นได้อนุมัติวงเงินให้เรากู้เป็นเงินถึง 14,500 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เราได้มีการเบิกใช้จริง 12,296 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 510,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลที่แล้วได้ใช้หนี้ส่วน 510,000 ล้านบาทนี้ไป 10,000 ล้านบาท เหลือหนี้ทั้งหมด 500,000 ล้านบาท รัฐบาลนี้ได้เข้ามาทำงาน 2 ปีครึ่ง ได้ชำระหนี้ทั้ง 500,000 ล้านบาทหมดในวันนี้ ทำให้เราถือว่าหมดพันธะต่อการที่ต้องพึงปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีไว้ต่อไอเอ็มเอฟ [...] ผมอยากจะบอกให้พี่น้องประชาชนให้มีความมั่นใจ

และภูมิใจในความเป็นคนไทย ว่าวันนี้เราไม่มีพันธะใดๆ [21]— นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร 31 กรกฎาคม 2546

การชำระหนี้ดังกล่าวเป็นการชำระก่อนกำหนดถึงสองปี แม้จะถูกฝ่ายต่อต้านโจมตีว่าทักษิณใช้วิธีกู้เงินจากแหล่งใหม่ด้วยดอกเบี้ยที่แพงกว่ามาใช้คืนไอเอ็มเอฟ (รัฐบาลคงเป็นหนี้เหมือนเดิม) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการพ้นพันธะจากไอเอ็มเอฟทำให้รัฐบาลสามารถแก้ไขกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจ 11 ฉบับและไม่ต้องเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 10 นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้มีกระแสเงินเข้ามาลงทุนในภาคเศรษฐกิจของไทยมากขึ้นจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2547 ประเทศไทยได้รับการปรับระดับความน่าเชื่อถือ (Credit rating) โดยสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส จากระดับ BBB ขึ้นสู่ระดับ BBB+[22]ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของประเทศต่ำลง อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์ได้ออกมาแถลงต่อกรณีดังกล่าวว่า "..สิ่งที่ทำให้รัฐบาลชุดนี้ใช้หนี้ได้ก่อนกำหนด เนื่องจากรัฐบาลชุดที่แล้วกู้เงินต่ำกว่าที่ไอเอ็มเอฟกำหนดถึง 2,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นจึงไม่อยากให้รัฐบาลนำเรื่องนี้มาเป็นผลงานมากจนเกินไป"[23]

วิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ:

หวยบนดิน

ดูบทความหลักที่: สลากเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว

ทักษิณตระหนักว่าธุรกิจหวยใต้ดินนั้นมีเงินหมุนเวียนมหาศาลและรัฐไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ นอกจากนี้ ธุรกิจหวยใต้ดินยังเป็นเสมือนบ่อเงินบ่อทองของเหล่าผู้มีอิทธิพล ทักษิณจึงกำหนดให้มีการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลแบบเลขท้าย 2 และ 3 ตัว ซึ่งเรียกว่า "หวยบนดิน" ขึ้นมาเพื่อดึงเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ และมีการยกเว้นการเก็บภาษีกับสลากประเภทนี้ รายได้จากการจำหน่ายสลากประเภทนี้หลังหักค่าใช้จ่าย หากกองทุนมีเงินส่วนเกินเหลือเหมาะสมเพียงพอในแต่ละช่วงเวลาจะจัดสรร รายได้ส่วนเกินดังกล่าวคืนสู่สังคมเพื่อสนับสนุนการศึกษา การแพทย์ ศาสนา สังคม และสาธารณประโยชน์อื่นๆ[24]

โครงการหวยบนดินได้รับการอนุมัติโดยกองสลากเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2546 และมีการดำเนินงาน 72 งวดระหว่าง 1 สิงหาคม 2546 ถึงวันที่ 16 กันยายน 2549 มีรายได้จากการจำหน่ายสลากหวยบนดินรวม 123,339 ล้านบาท มีการจ่ายเงินรางวัลรวมทั้งสิ้น 69,242 ล้านบาท[24] เท่ากับมีกำไรขั้นต้นในโครงการนี้ 54,097 ล้านบาท กำไรส่วนหนึ่งถูกนำไปเงินจ่ายคืนสู่สังคมจำนวน 13,679 ล้านบาท

เงินที่ถูกจัดสรรคืนสู่สังคม มีการนาไปใช้จ่ายในโครงการแก้ไขปัญหาเด็กเร่ร่อน เด็กพิการ เด็กที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ขององค์กรเอกชน สาธารณประโยชน์และหน่วยงานของรัฐ โครงการเขียนเรียงความสำหรับเด็กและเยาวชนเพื่อขอรับทุนการศึกษาตามนโยบายของรัฐบาล การจัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข การประกันภัยแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าท่ีของรัฐท่ีปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาบุตรธิดาอาสาสมัครสาธารณสุข และโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน[24] ในส่วนของโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนนั้น รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ให้ความเห็นไว้ว่า "เด็กๆ ที่รับทุนหวยเรียกทักษิณว่าพ่อทุกคำ เงินหวยพวกนี้ทำให้เกิดพลังเด็กและพ่อแม่ที่ศรัทธาในตัวทักษิณอย่างมาก พวกเขาไม่เคยคิด ไม่เคยฝันว่าจะได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ"[25]

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ถูกโจมตีว่าเป็นการมอมเมาประชาชนให้เชื่อในโชคมากกว่าความมานะบากบั่น เป็นความเสื่อมทรามทางสังคมที่ขัดกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง[26] ในปี 2551 ป.ป.ช. ได้ยื่นฟ้องทักษิณและพวกฐาน "นำเงินหวยใช้สอยตามอำเภอใจ"[27] และยังวิพากษ์ว่ารัฐบาลทักษิณมีการใช้จ่ายเงินดังกล่าวอย่าง "ผิดหลักการบริหารประเทศไทย" ท้ายที่สุดศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาในเดือนกันยายน 2552 ว่ามติคณะรัฐมนตรีที่ให้ออกหวยบนดินนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการใช้จ่ายเงินเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือประโยชน์แก่พวกพ้องแต่อย่างใด[27]

ในปีพ.ศ. 2563 ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่าเงินรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายดังกล่าว "จะต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน แต่คณะรัฐมนตรีกลับมีมติให้นำเงินของรัฐออกไปใช้โดยไม่มีสิทธิ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ท่ีก่อให้เกิด ความเสียหายแก่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และเป็นการปฏิบัติหน้าท่ีในการแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ควรได้...โครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว (หวยบนดิน) ไม่ใช่การออกสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือสลากการกุศลงวดพิเศษ แต่เป็นการออกสลากกินรวบ" พิพากษาให้จำคุกนายทักษิณเป็นเวลา 2 ปี[24]

ใกล้เคียง

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของทักษิณ ชินวัตร การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประยุทธ์ จันทร์โอชา การดำน้ำสกูบา การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของบารัก โอบามา การดำน้ำ การดำเนินการ (คณิตศาสตร์) การดำน้ำในถ้ำ การดำเนินการพีชคณิต การดำเนินการเอกภาค

แหล่งที่มา

WikiPedia: การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของทักษิณ_ชินวัตร http://www.bangkokbiznews.com/viewNews.jsp?newsid=... http://www.economist.com/world/asia/displaystory.c... http://gallery.marihemp.com/akha http://nationmultimedia.com/2006/10/05/opinion/opi... http://nationmultimedia.com/2006/12/25/headlines/h... http://nationmultimedia.com/breakingnews/read.php?... http://www.nationmultimedia.com/2006/03/23/politic... http://www.nationmultimedia.com/2006/03/30/busines... http://www.nationmultimedia.com/Election2005/news/... http://query.nytimes.com/gst/fullpage.html?res=940...